ปวดหลัง ร้าวลงขา เสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ปวดหลัง ร้าวลงขา
สัญญาณเตือนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หลายคนคงต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานของอาการปวดหลัง จนบางครั้งก็รบกวนชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งหลายคนอาจทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือไปนวดบำบัด นวดแก้ปวดหลัง แต่อาการปวดหลังไม่ดีขึ้นจนต้องมาพบแพทย์”

นายแพทย์จรูญ จันทร์ดำรงกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมกระดูกสันหลัง

อาการปวดหลังเกิดจากอะไร

อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหลังอักเสบ ข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง รวมไปถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราที่มีการเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น การยกของหนักบ่อยๆ การก้ม การบิดเอี้ยวตัว ก็มีส่วนที่ทำให้มีอาการปวดหลังแย่ลง

 “ปวดหลังร้าวลงขา” วัยทำงานอย่านิ่งนอนใจ

อาการปวดหลังร้าวลงขา คือ อาการหนึ่งที่ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรระวัง ซึ่งอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยส่วนใหญ่พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการนี้อยู่ในวัยทำงานมากที่สุด

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” คือ ภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลังทำให้ทรุดตัวและไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนได้ดังนี้

1.      ปวดหลัง หรือปวดบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ

2.      ปวดร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า มีอาการชาร่วมด้วย

3.      เดินได้ไม่ไกล จะมีอาการปวดชาลงไปถึงขา เหมือนเป็นตะคริว ต้องหยุดพัก แล้วถึงเดินต่อไปได้

4.      ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีอาการอ่อนแรงของขา กระดกข้อเท้าไม่ได้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่าย

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาหายไหม?

สำหรับวิธีการดูแลรักษาผู้ที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและเลือกแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิธีรักษาอาการปวดหลัง สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวของผู้ป่วยเอง ซึ่งมีแนวทางในการรักษา ดังนี้

·      ปรับสภาพการใช้งานให้ถูกต้อง เช่น ไม่ควรนั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง ควรจะลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ หลีกเลี่ยงการก้มเงย ยกของหนักเป็นประจำ

·      การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรง

·      การฝึกยืดกล้ามเนื้อหลัง เพื่อเป็นการลดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง

·      ทานยาแก้ปวด หรือกายภาพบำบัด เพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% จะมีอาการดีขึ้น

ปวดหลังแบบไหนที่ควรพบแพทย์

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง และสงสัยว่าต้องพบแพทย์หรือไม่ สามารถสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการดังกล่าว ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

·      มีอาการปวดหลังเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน ทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น

·      ปวดหลังร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า มีอาการชาร่วมด้วย

·      มีอาการขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าไม่ได้

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.sikarin.com

รูปภาพจาก: https://www.s-spinehospital.com